คุณค่าของสุนทรียศาสตร์
สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้นดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกันความรู้สึกของคำว่า “รักคุณเท่าฟ้า”ทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อนทุกคนรู้สึกว่า “เหงา” อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า “เหงา” ของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงา…เหงา…เหงา… จะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงา…จริงความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม
ดนตรีในความหมายของสุนทรียศาสตร์
ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของดนตรีเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเสียงลักษณะและคุณภาพของเสียง หนา-บาง สูง-ต่ำ ดัง-เบา สั้น-ยาว เล็ก-ใหญ่ ฯลฯ แหล่งกำเนิดเสียง คุณสมบัติของเสียง ศาสตร์เป็นความรู้ที่สามารถสืบทอดการเรียนรู้โดยการอ่านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่กันฟัง การสืบค้นคว้าจากหลักฐานต่าง ๆ ความรู้สามารถคิดหาเหตุผลมาประติดประต่อได้ ความรู้สามารถเรียนรู้ได้โดยการจดจำ ท่องบ่น ทบทวน และที่สำคัญก็คือความรู้สามารถเรียนทันกันหมด ความรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้การ ทรงจำดนตรี เอาไว้โดยการท่องบ่นแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นแต่เพียงคุณค่าของศาสตร์เท่านั้น การท่องบ่นเป็นการทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ขาดความมีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้รอบ ๆ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง กิตติศัพท์ เกียรติคุณ เป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบนอกเหนือดนตรีทั้งสิ้นสุนทรียะเป็นเรื่องของศิลป์ ดนตรีเป็นศิลปะของการเรียบเรียงเสียง นำเอาเสียงที่มีความสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนา-บาง ดัง-เบา มาต่อกันโดยอาศัยความรู้ การนำเสียงมาต่อกันให้มีศิลปะ จึงจะเกิดเป็นความไพเราะขึ้น ถ้านำเสียงเอามาต่อกันแล้วไม่มีศิลปะก็ไม่เป็นดนตรี กลายเป็นเสียงอื่น ๆ ไปความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นสุนทรียะ สืบทอดโดยการเล่าสู่กันฟังอย่างความรู้ไม่ได้ อ่านความไพเราะไม่ได้ ท่องจำความไพเราะไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ความไพเราะของดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์ตรงเท่านั้นการสัมผัสความไพเราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะคนไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับวุฒิ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับปรัชญา แต่ความไพเราะอยู่นอกเหนือปรัชญาและปัญญา
การสร้างประสบการณ์ทางดนตรี
ดนตรีเป็นสุนทรียะหรือที่เรียกกันว่า ความงาม ความไพเราะ เป็นเรื่องของนามธรรมยากที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษาเพราะแต่ละคนจะมีรสนิยมในเรื่องของความงามที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจะมีอิทธิพลต่อความชอบ ความรัก ความไพเราะ ความงาม ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ถึงแม้ว่าสุนทรียะทางดนตรีเป็นเรื่องนามธรรมเกิดขึ้นจำเพาะตัวบุคคลแต่เราสามารถสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ได้
ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางสุนทรียะที่ควรคำนึงถึง คือ
ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางสุนทรียะที่ควรคำนึงถึง คือ
1. ความตั้งใจจดจ่อ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องผนวกความตั้งใจจดจ่อต่อศิลปะ หรืออาจจะพูดอีกแง่หนึ่งว่าต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจจดจ่อหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความไม่ตั้งใจไร้ศรัทธาเป็นการปิดกั้นสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรกเริ่ม การฟังดนตรีด้วยความตั้งใจจดจ่อ ฟังด้วยความศรัทธา โอกาสที่จะตอบสนองต่อเสียงดนตรีที่ได้ยินมีสูงทั้งทางร่างกายและทางความรู้สึก การที่ได้ยินเสียงดนตรีตามภัตตาคารต่าง ๆ ในระหว่างการรับประทานอาหารหรือเสียงดนตรีในงานเทศกาลต่าง ๆ เสียงดนตรีเหล่านั้นได้ยินผ่าน ๆ หูเราไปโดยมิได้ตั้งใจฟัง ซึ่งไม่สามารถสร้างความงามทางสุนทรียะให้เกิดขึ้นได้ สุนทรียะทางศิลปะเน้นความรู้สึกทางจิตมากกว่าความรู้สึกทางกายตัวอย่างการไปชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวเช่น “หนังผี” เรารู้ว่าเป็นหนังผีเกี่ยวข้องกับความกลัว แต่เราก็ยังอยากดูและได้เตรียมตัวกลัวจากบ้านไปดูหนังผี คือมีความศรัทธาในความกลัวผีก่อนที่จะดูหนัง ในขณะที่เราดูหนังเราก็จินตนาการว่าจะต้องมีผีอยู่ทุกขณะจิต ความเงียบ ความวังเวง ความมืด เสียงระฆังจากโบสถ์หรือเสียงต่ำ ๆ ของเสียงดนตรี ช่วยสร้างบรรยากาศของความกลัวมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีผู้ชมเต็มโรงหนัง เราก็มีความรู้สึกว่าเราอยู่โดดเดี่ยวเผชิญกับผี แม้กระทั่งเพื่อนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สะกิดให้ตื่นจากภวังค์ เราก็เข้าใจเอาว่าผีสะกิดด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเราได้สร้างความตั้งใจกลัว ศรัทธาในความกลัวไว้ก่อนแล้ว
2. การรับรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้ เป็นความรู้ที่จะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือการจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึก การรับรู้ และการหยั่งรู้หรือการสร้างมโนภาพการรับรู้ทางดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะการรับรู้ทางดนตรีไม่สามารถอ่านได้จากภาษาเหมือนวรรณคดี หรือสามารถดูได้ด้วยตาแบบภาพวาด แต่การรับรู้ทางดนตรีต้องอาศัยจากการฟังเสียงเพียงอย่างเดียว จะฟังดนตรีให้รู้เรื่องไม่ได้ เพราะดนตรีไม่เป็นเรื่อง การรับรู้ทางดนตรี จึงต้องฟังว่าอะไรเกิดขึ้นในเพลง จะอาศัยให้ใครบอกไม่ได้ ต้องรับรู้ด้วยตนเอง
3. ความประทับใจ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจหรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามารถแยกออกเป็นสองขั้นตอนด้วยกันคือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต ซึ่งเกิดขึ้นตามในลำดับต่อมา เช่น ความดันเลือดในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้หน้าแดง หน้าซีด การหายใจถี่แรง หรือการถอนหายใจ ความรู้สึกโล่งอกหรืออัดแน่น รู้สึกง่วงนอนหรือกระปรี้กระเปร่า สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่มีผลมาจากแรงกระทบทางอารมณ์ทั้งสิ้นความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้าโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้ก็จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก การที่เราเคยได้ยินเสียงดนตรีในงานศพของคนที่เราเคารพรักและหวงแหน หรือในขณะที่เราอยู่ในอารมณ์เศร้า เรามักจะจำเหตุการณ์วันนั้นและเสียงเพลงที่ได้ยินอย่างแม่นยำ
4. ความรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนอาศัยประสบการณ์ สุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาปะติดปะต่อหรือการสังเคราะห์การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่หรือแม้การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ เป็นตัวสำคัญตัวอย่างเช่น การไปเดินที่ศูนย์การค้าได้มีโอกาสเห็นเสื้อหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่จะเลือกเฟ้นเสื้อตัวที่สวยที่สุด จากเสื้อที่เราเลือกแล้วซึ่งเป็นเสื้อที่สวยและพอใจจนซื้อมาใช้ เสื้อหลาย ๆ ตัวเหล่านั้นก็ยังมีเสื้อที่เราชอบที่สุดอีกเพียงไม่กี่ตัว โดยมีข้อมูลอื่น ๆ มาพิจารณา เช่น เหมาะสมกับโอกาสที่จะใส่ วัยของผู้ใช้ เป็นต้นในแง่สุนทรียะของดนตรีนั้น การฟังมาก ๆ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการที่ยกระดับสุนทรียะของแต่ละคน เพราะสุนทรียะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องสร้างด้วยตนเอง การไม่มีประสบการณ์ในการฟังดนตรีเปรียบเสมือนผู้ที่เดินหลงทางไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด การแก้ปัญหาคือเลือกสักหนึ่งทางแล้วเดินไป อาศัยเวลา ประสบการณ์ระหว่างทางเป็นองค์ประกอบบอกให้เราทราบว่าหลงทางหรือถูกทาง ในทำนองเดียวกันการฟังดนตรีทุกชนิดจะเป็นตัวบอกให้เราทราบว่าดนตรีชนิดใดที่เราชอบและจากดนตรีที่เราชอบเหล่านั้นจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สุนทรียะในที่สุด
5. ความเข้าใจวัฒนธรรม ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสตหนึ่งด้วยเพราะ “ศิลปะของชนกลุ่มใดย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น”อย่างวัฒนธรรมในการกิน เราอาจจะสงสัยว่าฝรั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปังทาเนย จะอยู่ท้องได้อย่างไร ในทำนองเดียวกันกับฝรั่งก็สงสัยเราว่ามีน้ำพริกอยู่ถ้วยหนึ่ง ผักอยู่จานหนึ่งแล้วมีคนนั่งล้อมรอบ ๆ 4-5 คน ข้าวคนละจานกินอะไรกัน จะมีอาหารพอกินหรือ คำถามทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอกับคนต่างถิ่น แต่ผู้กินเองมีความอร่อยกับอาหารของตัวเอง แต่ในทางตรงข้าม การไปกินอาหารต่างวัฒนธรรมกลับทำให้รู้สึกกินไม่อิ่ม กินไม่ถูกปาก ฯลฯ การกินเป็นวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์สั่งสมประสบการณ์และนิสัยของการกินเป็นเวลานาน จนเกิดความเคยชินและติดเป็นนิสัย จุดความ “อร่อย”ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเคยชินและประสบการณ์การฟังดนตรีให้เกิดความงามทางสุนทรียะ ต้องอาศัยความเคยชิน ประเพณีนิยม วัฒนธรรมของกลุ่มคนนั้น ดนตรีในหัวใจของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันคนถีบสามล้ออาจจะมีเสียงเฟืองล้อกระทบกับโซ่สายพานเป็นซิมโฟนีของเขา คนอยู่ริมทะเลจะมีเสียงลมเสียงคลื่นขับกล่อม หรือคนที่มีบ้านใกล้ทางรถไฟไม่ได้ยินเสียงรถไฟแล้วนอนไม่หลับ เสียงเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเคยชินจนกลายเป็นซิมโฟนีในหัวใจของแต่ละคน การที่เราได้ยินได้ฟังลาวดวงเดือนทั้งทางตรง ทางอ้อม ฉบับย่อ ขยายดัดแปลง ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ย่อมเข้าใจลาวดวงเดือนมากกว่าคอนแชร์โตของโมสาร์ต เบโธเฟน ซึ่งได้ฟังเป็นครั้งแรก ผลก็คือความซาบซึ้งทางสุนทรียะย่อมแตกต่างกันการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วทั้ง 5 ประการ ศิลปะทุกแขนงที่สร้างขึ้นโดยศิลปิน ศิลปินเองก็ต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน ในการสร้างงานศิลปินเปรียบเสมือนเครื่องส่งวิทยุ ผู้ฟังผู้ชมเป็นเครื่องรับวิทยุ อย่างไรก็ตามทั้งศิลปินและผู้ฟังผู้ชมต้องมีคลื่นวิทยุที่มีความถี่ตรงกันจึงจะรับได้ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องส่งและเครื่องรับ แต่ถ้าความถี่คลื่นไมตรงกันก็ไม่สามารถที่จะรับได้ดนตรีเป็นศิลปะที่มีความงาม ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ที่จะเข้าถึง ได้รับสุนทรียรส ทุก ๆ คนมีโอกาสมีสิทธิที่จะเข้าถึงความงามอันนั้น เพราะความงามมีอยู่แล้วในตัวแต่ละคน เพียงแต่ว่าความงามอันนั้นจะถูกขัดเกลาและนำมาใช้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น